วันอาทิตย์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2552

งานวิจัยรูปแบบการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะใน 3 จชต.

บทย่องานวิจัย"รูปแบบการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะใน 3 จชต."
ผลงานของ นายสนั่น พาหอม ผู้อำนวยการสำนักผู้ตรวจราชการประจำเขตตรวจราชการที่ 11 สงขลา

บทคัดย่อ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษารูปแบบการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR) กลุ่มเป้าหมายผู้ร่วมปฏิบัติการได้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะ ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม โต๊ะครูและผู้เกี่ยวข้องอื่นในพื้นที่ รวม 308 คน กลุ่มตัวอย่างในการประเมินผลการพัฒนาของสถาบันศึกษาปอเนาะ ได้แก่ โต๊ะครูที่ร่วมปฏิบัติการ ส่วนกลุ่มตัวอย่างในการประเมินความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของรูปแบบ ได้แก่ ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาของสถาบันศึกษาปอเนาะ ประกอบด้วย ผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และโต๊ะครู จำนวน 100 คน แบบสนทนากลุ่มกำหนดปัญหาและความต้องการ แบบสนทนากลุ่มกำหนดแนวทางการพัฒนา แบบประเมินผลการดำเนินงานของสถาบันศึกษาปอเนาะและแบบประเมินความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของรูปแบบ ที่ผ่านการตรวจสอบคุณภาพ และมีคุณภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยการหาความตรงในเนื้อหาด้วยการหาดัชนีความสอดคล้อง (IOC) และความเชื่อมั่นโดยการหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟา เป็นเครื่องมือการวิจัย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสนทนากลุ่ม การจัดส่งแบบและรวบรวมแบบคืนทางไปรษณีย์และการจัดส่งแบบและรวบรวมคืนด้วยตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยโปรแกรมสำเร็จรูป ใช้ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) ค่าความแตกต่างระหว่างฐานนิยมและมัธยฐาน (Mo-Md) และค่าพิสัยควอไทล์ (Q.D.) เป็นสถิติในการวิเคราะห์ ผลการวิจัยพบว่า 1. สถาบันศึกษาปอเนาะในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีปัญหาเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนและต่อเนื่องในนโยบายสนับสนุนของรัฐ อาคารสถานที่และสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสม บุคลากรขาดโอกาสในการพัฒนาตนเอง หลักสูตรไม่เอื้อต่อการถ่ายโอนผลการเรียน การวัดและประเมินผลรวมทั้งการบริหารจัดการยังขาดประสิทธิภาพ ต้องการการสนับสนุนจากรัฐอย่างต่อเนื่อง การพัฒนาอาคารสถานที่และสภาพแวดล้อม การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาหลักสูตรกลางเป็นตัวแบบ และต้องการสนับสนุนช่วยเหลือกันในการพัฒนา 2. สถาบันศึกษาปอเนาะจำเป็นต้องพัฒนา ทั้งด้านวิชาการ อาคารสถานที่ การบริหารการเงินและธุรการ การพัฒนาบุคลากรและการสร้างความสัมพันธ์กับชุมชน โดยการพัฒนาที่เน้นการพึ่งตนเอง การร่วมมือช่วยเหลือกัน การพัฒนาตามสภาพจริง การระดมสรรพกำลังจากทุกฝ่าย และการกำหนดกรอบกิจกรรมสำหรับการพัฒนาในแต่ละระดับ 3. สถาบันศึกษาปอเนาะที่ร่วมปฏิบัติการได้นำแนวทางการพัฒนาที่กำหนดร่วมกันไปใช้เป็นแนวทางใน การพัฒนา และได้ดำเนินการพัฒนาตามแนวทางที่กำหนดในระดับมากที่สุด 4. รูปแบบการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะที่พัฒนาขึ้น เป็นรูปแบบความคิดเชิงยุทธศาสตร์ กำหนดให้สถาบันเป็นสถาบันสอนศาสนาและการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรมและสร้างชุมชนเข้มแข็ง ดำเนินการพัฒนาใน 5 พันธกิจ ได้แก่ การพัฒนาอาคารสถานที่ การพัฒนาบุคลากร การพัฒนาคุณภาพการศึกษา การพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการ การพัฒนาชุมชน โดยมีเป้าประสงค์ที่จะให้สถาบันศึกษาปอเนาะเป็นสถาบันน่าอยู่ ครูมีคุณภาพ ผู้เรียนมีความรู้คู่คุณธรรม มีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ และเป็นสถาบันของชุมชน ใช้ 3 กลยุทธ์หลักในการพัฒนา ได้แก่ การพัฒนาแบบพึ่งตนเอง การสร้างเครือข่ายการพัฒนา การสร้างคุณภาพถ้วนหน้า พร้อมทั้งกำหนดกรอบกิจกรรมการพัฒนาไว้ชัดเจนในแต่ละระดับ ให้ส่งผลต่อความร่วมมือและประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ 5. ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาสถาบันศึกษาปอเนาะ ทั้งผู้บริหารระดับสูง ผู้เชี่ยวชาญ เจ้าหน้าที่ส่งเสริม และ โต๊ะครู มีความเห็นสอดคล้องกันเป็นฉันทามิติว่า รูปแบบที่พัฒนาขึ้นนี้ มีความเหมาะสมและความเป็นได้ในระดับมาก

ไม่มีความคิดเห็น: